วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาท้องถิ่น





ร่มกระดาษสาไม่เลือนลางไปตามกาลเวลา


จากลำไผ่ไหวเอนส่งเสียงเอียดออดยามต้องลมแรงมาเป็นก้านร่ม และโครงร่ม กระดาษสาซื่งทำมาจากเปลือกไม้หุ้มต้น รวมกันเป็นร่มกระดาษสา ที่ซึ่งทอดเงากันแดดฝนมานานนับศตวรรษ ด้วยคุณค่าและเอกลักษณ์อันงดงาม ร่มกระดาษสาบ่อสร้างจึงเป็นมรดกแผ่นดินที่ชาวเชียงใหม่ทุกคนหวงแหนและภาคภูมิใจ

การทำร่มกระดาษสาบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง นี้มีกรรมวิธีผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อน ที่สืบทอดกันมาจากความคิดค้นสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นอันยาวนาน สืบทอดมีความเป็นมาและวิวัฒนาการจนมาเป็นร่มกระดาษสาที่เราได้เห็นในปัจจุบัน เอกลักษณ์ของร่มกระดาษสานี้ ก็คือกรรมวิธีในการผลิตต้องอาศัยความชำนาญ และฝีมืออย่างสูง อีกทั้งฝีมือในการแต่งแต้มลวดลายอันงดงามเป็นเอกลักษณ์ด้วย
ครกกระเดื่องติดเครื่องจักร


ลักษณะและวิธีการใช้

ครกกระเดื่องเป็นครกที่ใช้ประโยชน์ในการตำข้าว เปลือกเพื่อให้เป็นข้าวสารมารับประทาน เป็นเทคโนโลยีขั้น พื้นฐานอำนวยความสะดวกเพื่อดำรงชีวิต ครกกระเดื่องนอก จากจะใช้ตำข้าวแล้ว ยังใช้ตำแกลบหรือ เปลือกข้าวให้เป็นรำข้าวใช้เลี้ยงสัตว์ ตำแป้ง ขนมจีน ฯลฯ นับว่าเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์และ ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ทั้งยังเป็นการออก กำลังกายให้แข็งแรง ประหยัดเงินทองไม่ต้องจ้าง โรงสีสีซ้อมข้าว พร้อมกันนั้นก็ยังได้ ปลายข้าว รำข้าว เป็นผลิตผลพลอยได้ตามมา

อย่างไรก็ตาม การตำข้าวโดยใช้แรงมนุษย์ ที่ต้องการข้าวซึ่งเป็นผลผลิตปริมาณมากและภาย ใต้เงื่อนไขเวลาที่จำกัดไม่อาจทำได้ จึง ได้เกิดภูมิปัญญาชาวบ้านคิดค้นนำเครื่องจักร กล จากเครื่องยนต์สูบน้ำจากเครื่องยนต์รถไถ เดินตาม มาประกอบเข้ากับอุปกรณ์อีกชุดหนึ่งเพื่อ หมุนวงล้อให้สัมผัสกับปุ่มยกแขนครกกระเดื่อง ให้ขึ้น - ลงแทนแรงคน

ครกกระเดื่องติดเครื่องจักรเป็นที่นิยมกันในกลุ่ม ผู้ประกอบอาชีพตำข้าวเม่าขาย ในช่วงฤดูข้าวออก รวงใหม่ที่เรียกว่า "ข้าวตั้งท้อง" หรือ "ข้าวกำลังเม่า" ผู้ที่ประกอบอาชีพตำข้าวเม่า ขาย จะนำข้าวที่ตั้งท้องเป็นเม่ามาใส่ กะทะคั่วให้สุกพอประมาณ แล้วใส่ครกตำ ให้เป็นเม็ดแบน เอาเปลือกออกแล้วนำไปขาย เป็นข้าวเม่าภายในช่วง เวลาที่ต้องจำหน่ายให้ผู้ บริโภคในวันหนึ่ง ๆ ให้หมด หากทิ้งข้ามวัน ข้าวเม่าจะไม่หอมไม่เหมาะแก่การบริโภค ครกกระเดื่อง ติดเครื่องจักร จึงเข้ามาแทนแรงงานคนได้ อย่างเหมาะสม
ประโยชน์


1. การลงทุนต่ำ ครกกระเดื่องติดเครื่องจักร มีราคาไม่สูงนัก ประกอบด้วยครกกระเดื่องที่มี อยู่แล้ว1-2 ใบ ต่อแขนให้ยาวพอ ประมาณ ต่อกับอุปกรณ์ที่ประกอบขึ้นและตัวมอเตอร์ที่ ใช้กำลังจากน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล
ส่วนประกอบที่สำคัญ เช่น
ห่วง ขนาด 18" 2 ตัว เพลาราง 2 ตัว ตุ๊กตาและลูกปืน 4 ตัว
เหล็กฉาบ 1 เส้น มู่เล่ 6" 1 ตัว เหล็กแผ่น 1 แผ่น
อุปกรณ์เหล่านี้นำมาเชื่อม-ประกอบต่อกับแกน มอเตอร์ จากเครื่องยนต์สูบน้ำ หรือเครื่องยนต์จากรถ ไถเดินตาม ก็สามารถขับเคลื่อนให้ครกกระเดื่องทำงาน ได้ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,400 บาท ( ไม่นับเครื่อง ยนต์สูบน้ำหรือรถไถเดิม ตามซึ่งมีอยู่แล้ว )
ประสิทธิภาพการใช้งานสูง

ครกกระเดื่องติดเครื่องจักร สามารถทำงานได้ยาวนานหลาย ชั่วโมงต่อเนื่องกัน จากการศึกษาการทำงาน ระหว่าง 08.00-22.00 น. จะสิ้น เปลืองน้ำมันดีเซลเพียง 40 บาท
ได้ผลกำไรคุ้มค่า


จากการศึกษาจากเกษตรกรรายหนึ่งพบว่า เมื่อปลูก ข้าวได้ 90 วันใน ปริมาณ 3 ไร่ จะได้ข้าวเปลือก ประมาณ 60 หมื่น ( 1 หมื่น = 12 กิโลกรัม ) นำ ข้าวเปลือกครึ่งหนึ่ง ( 30 หมื่น ) มาตำเป็นข้าวเม่า ขายจะได้เงินประมาณ 8,000 บาท ส่วนข้าวที่เหลือ อีกครึ่งหนึ่งจะปล่อยให้เมล็ดแก่เพื่อเก็บไว้ รับประทาน จึงนับว่าเป็นรายได้ที่งดงาม ใน ปัจจุบันข้าวเม่าขายในท้องตลาดราคากิโลกรัมละ 100 บาท

การปลูกข้าวเพื่อขายเป็นข้าวเม่าจึงนับว่ามี รายได้สูงกว่าการปลูกข้าวขาย แต่ทั้งนี้ ผู้ผลิตต้องรู้จักการนำพันธ์ข้าวชนิดต่าง ๆ ที่มีอายุสั้น-ปานกลาง-ยาว มา ปลูกเป็นช่วง ๆ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าว เป็นระยะ ๆยาวนาน นำมาตำเป็นข้าวเม่าจำหน่าย แต่ สิ่งที่สำคัญคือ ครกตำข้าวซึ่งจะช่วยผ่อน แรงคนให้สามารถตำข้าวได้ตลอด เวลา ผู้ประกอบ ธุรกิจจะสามารถส่งข้าวเม่าสู่ตลาดจำหน่ายให้บริโภคได้ ต่อวัน

ครกกระเดื่องติดเครื่องจักร จึงเป็นเทคโนโลยีพื้นบ้านที่ สำคัญอย่างหนึ่งในสังคมการเกษตรกรในภาคอีสาน

ด้านสุขภาพอนามัย
การกวาดยา



การกวาดยา คือการเอายาป้ายในลำคอโดยใช้นิ้วมือ ซึ่งโดยปกติจะใช้นิ้วชี้ของมือขวาแต่สำหรับหมอโบราณที่รับรักษาโดยการ กวาดยาอาจใช้นิ้วอื่น ๆ รวม 4 นิ้ว กวาดยาได้ ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือเท่านั้น
สำหรับนิ้วที่ใช้กวาดยานั้น มีความเชื่อต่างกัน บ้างก็ว่าต้องเป็นนิ้วที่มีลายก้นหอย จึงจะใช้กวาดยาได้ บ้างก็ว่าต้องมีเส้นชีวิตยาว จรดโคนนิ้วจะเป็นหมอกวาดยาที่ฉมัง บ้างก็ว่านิ้วที่จะใช้กวาดยาได้ดีที่สุดต้องไปกวาดคอจระเข้ก่อน

วิธีใช้
ใช้กวาดคอเด็กอายุประมาณ 6 เดือน ถึง 3 ขวบ โรคที่ใช้การรักษาด้วยการ กวาดยา คือ โรคซาง ซึ่งเด็กที่เป็นโรคนี้ จะมีลักษณะเกิดเป็นเม็ดขึ้นในปากและคอ ลิ้นเป็นฝ้า มีอาการทั่ว ๆ ไป ที่สังเกตเห็นได้ เช่น ไม่กินข้าว ปวดหัวและตัวร้อน หรือใช้การกวาดยาในกรณีที่เด็กมีอาการไอ มีเสมหะมาก
หมอจะใช้ยาเม็ดบดให้ละเอียดโดยใช้ครกบดยา ใส่มะนาว พิมเสน และเกลือเม็ดเป็นกระสายบดให้ละเอียดและเข้ากันดี ใช้นิ้วชี้ป้ายยาไว้ที่ปลายนิ้ว ผู้ปกครองจะอุ้มเด็กนอนหงายซึ่งเด็ก ๆ ไม่ชอบ ก็จะอ้าปากร้องไห้ หมอจะใช้จังหวะนี้จับกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างของเด็กไว้มิให้หุบปากได้ พร้อมทั้งเอานิ้วที่มียาแหย่เข้าปากและป้ายลงไปในลำคอโดยเร็ว เมื่อหมอกวาดยาเสร็จแล้วจะต้องทำใจให้เป็นสมาธิ กล่าวคาถาและ เป่ากระหม่อมให้เด็ก สำหรับคาถาต่างครูก็ว่าต่างกันไป แต่มีใจความสำคัญว่า "ขอให้โรคภัยของเด็ก ๆ หายไป"
การรักษาโดยวิธีกวาดยาถือว่าเป็นการรักษาที่ง่ายและลงทุนน้อย และด้วยความน่ารักของเด็ก ๆ หมอจึงไม่นิยมคิดเงิน ผู้ปกครองบางคนเกรงใจก็จะวางเงินไว้ให้ จนกลายเป็นกำหนดราคาค่ากวาดยาไปก็มี แต่ก็ถูกมาก ในปัจจุบันนี้นิยมวางเงินไว้ให้ 5 บาท
เวลากวาดยาจะกวาดเวลาใดก็ได้ แต่นิยมกันมากคือ กวาดยาในเวลาเย็น ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป และจะกวาดยาคนละ 1 ครั้ง ต่อวัน
ผลกระทบต่อชุมชน
ในสมัยก่อนที่การสาธารณสุขของเรายังไม่เจริญ หมอโบราณคือที่พึ่งของชาวบ้านได้อย่างดียิ่ง และแม้ปัจจุบันเมื่อการสาธารณสุข ของเราค่อนข้างเจริญ มีโรงพยาบาลทุกอำเภอ มีสถานีอนามัยทุกตำบลแล้วก็ตาม แต่จากกิตติศัพท์และการรักษาที่ได้ผล จึงทำให้ประชาชน ส่วนหนึ่งยังคงมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในวิธีการรักษาโดยการกวาดยา เด็กบางคนเมื่อรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันที่มีชื่อเสียงก็ไม่หายจาก อาการป่วย แต่กลับมาหายด้วยการกวาดยาเพียงครั้งเดียว ซึ่งคงจะตรงกับคำกล่าวที่ว่า "ลางเนื้อชอบลางยา" ก็เป็นได้ หมดโบราณคนนั้นคือ นายประมวล หาญพล อยู่บ้านเลขที่ 55 ถนนสายตราด-แหลมศอก ตำบลหนองเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดตราด หรือที่รู้จักกันดีว่า "หมอเปีย" และหมอเปียคนนี้ ยังคงกวาดยาให้เด็ก ๆ ทุกวัน วันละประมาณ 20 คน เป็นประจำ

ผู้ให้ข้อมูล นายประมวล หาญพล และนายสมบูรณ์ ปานนิล
ผู้เก็บข้อมูล นางเพ็ญจันทร์ ประทุมวงษ์ และนายสุริยะ มีความดี

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2551

ในหลวงกับเทคโนโลยี


1. พระราชกรณียกิจด้านสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยด้านการสื่อสารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ "...ทรงทดลองต่อสายไฟพ่วงขนานกับลำโพงขยาย ของเครื่องรับวิทยุส่วนพระองค์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดน ยี่ห้อ 'Centrum' จากห้องที่ประทับพระองค์ท่านไปยังห้องที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในบริการเสียงตามสายไม่น้อย..." (สุชาติ เผือกสกนธ์, วันสื่อสารแห่งชาติ : 2530)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระองค์ พระอัจฉริยะและพระอุตสาหะทั้งมวล เพื่อราษฎรในทุกภูมิภาค พระองค์ทรงมีดำริให้มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือสามารถรับส่งได้ไกลยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เสมอ เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงขาดไม่ได้คือการสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชน ดังเช่น ในระหว่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้ทรงพบว่า มีผู้ใดที่กำลังป่วยเจ็บจำเป็นต้องบำบัดรักษา จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จดูแลตรวจรักษาทันที ในบางรายที่มีอาการป่วยหนัก จำเป็นต้องส่งตัวเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครโดยเร็ว หากมีเวลาเพียงพอ พระองค์ท่านจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน ขอรับการสนับสนุนเรื่องการขนส่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำผู้ป่วยเจ็บส่งยังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณหรือ Repeater ซึ่งเชื่อมต่อทางวงจรทางไกลขององค์การโทรศัพท์ฯ ให้มูลนิธิแพทย์อาสาฯ (พอ.สว.) นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นห่างไกล

ในเรื่องการปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงพระราชทาน ในการปฏิบัติระยะแรกๆ ได้ประสบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งนักบินผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแก้ไขโดยฉับพลัน เนื่องจากยังไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร กล่าวคือฝนไม่ตกในเป้าหมายบ้าง ตกน้อย หรือไม่ตกตามที่คิดบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับตรับฟังข่าวการปฏิบัติการฝนเทียมทุกครั้ง และทรงทราบถึงปัญหาสำคัญคือ การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งวิทยุให้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียม ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัย รวมถึงการออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมาก หรือที่เรียกว่า VHF (วี.เอช.เอฟ) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ

ประการแรก เพื่อที่จะได้ใช้งานกับวิทยุส่วนพระองค์ ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสาธารณภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชน เรื่องไฟไหม้ เรื่องน้ำท่วม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทรงช่วยเหลือได้ทันท่วงที

ประการที่สอง เพื่อที่จะพระราชทานให้แก่หน่วยราชการต่างๆ

ประการที่สาม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยที่มีความรู้ ความสามารถและตั้งใจจริง ได้ใช้ความอุตสาหวิริยะในการพัฒนาระบบวิทยุสื่อสารขึ้นใช้เองภายในประเทศ

นอกเหนือจากวิทยุสื่อสารแล้ว ในเรื่องของเทเล็กซ์พระองค์ทรงสนพระทัยอยู่ไม่น้อย และสิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงขาดคือ การพระราชทานพรปีใหม่ นอกจากจะทรงมีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทยทางวิทยุและโทรทัศน์ทุกแห่งแล้ว พระองค์ท่านยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพรทางเทเล็กซ์สม่ำเสมอทุกปี แต่ในปัจจุบันท่านทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการประดิษฐ์บัตรอวยพรปีใหม่แทน

นอกจากนี้พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี


2. พระราชกรณียกิจด้านวิทยุกระจายเสียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องวิทยุเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงซื้ออุปกรณ์เครื่องรับวิทยุ ซึ่งมีวางขายเลหลังราคาถูกทรงประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดแร่ สามารถรับฟังวิทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแห่ง ต่อมาเมื่อกิจการวิทยุเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ได้นำหลอดวิทยุมาใช้ในเครื่องรับ-ส่งวิทยุ และเครื่องขยายเสียง และพระองค์ท่านก็ได้ทรงทดลองอุปกรณ์แบบใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. 2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

สถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อแรกตั้งเป็นสถานีเล็กๆ มีเครื่องส่ง 2 เครื่อง ขนาดที่มีกำลังส่ง 100 วัตต์ ออกอากาศด้วยคลื่นสั้นและคลื่นยาวในระบบ AM พร้อมๆ กัน เครื่องส่งรุ่นแรกนี้เป็นเครื่องที่ กรมประชาสัมพันธ์ทูลเกล้าฯ ถวายและติดตั้งให้ด้วยเมื่อออกอากาศไปได้ระยะหนึ่ง และในระบบคลื่นสั้นก็มีจดหมายรายงานผลการรับฟัง เข้ามาจากหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมันฯ เป็นต้น ดังนั้นจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่ง โดยมีชื่อรหัสสถานีว่า HS 1 AS ในปี พ.ศ. 2525 สถานีวิทยุ อ.ส. ได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงในระบบ FM ขึ้นอีกระบบหนึ่ง ในการขยายด้านกำลังส่งนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อให้สถานีวิทยุ อ.ส. สามารถบริการประชาชนได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อาจถือได้ว่าเป็นสถานีวิทยุเอกชนเพียงแห่งเดียวที่สามารถกระจายเสียงคลื่นสั้นได้ ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์

พระองค์ทรงมีวัตถุประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนในสมัยก่อน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ ที่ทรงแสดงให้ทราบถึงใจรักที่พระองค์ท่านพระราชทานให้กับประชาชนทั่วทุกคน

นอกเหนือจากเป็นสถานีวิทยุของสื่อมวลชนเพื่อการบันเทิง และเผยแพร่ความรู้กับประชาชนแล้ว ยังได้ทำหน้าที่แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนในโอกาสสำคัญ หรือเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ขึ้น เช่น การเกิดโรคโปลีโอระบาดในปี พ.ศ. 2495 อหิวาตกโรคในปี พ.ศ. 2501 และเมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี พ.ศ. 2505 โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม จนเป็นบ่อเกิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันมีคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ทำหน้าที่นายสถานี เล่าให้ฟังว่า นโยบายหลักเกี่ยวกับการบริหารงานของสถานี ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ก็คือ การเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน ได้เข้ามาสนองพระมหากรุณาธิคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานีจึงเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น และทรงรับภาระต่างๆ ด้านสถานีด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้นโยบายประหยัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด และในปัจจุบันนี้สถานีวิทยุ อ.ส. ยังคงกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันเว้นวันจันทร์ โดยออกอากาศทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว ในระบบ AM 1332 KHzและ FM 104 MHz ควบคู่กันไปด้วยกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ โดยออกอากาศวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 10.30-12.00 และ 16.00-19.00 วันอาทิตย์ เวลา 9.00-12.00 หยุดทุกวันจันทร์



3. พระราชกรณียกิจด้านดาวเทียม
ดาวเทียมไทยคมนับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า และได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการสนองพระราชดำริ ในเรื่องของการศึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้สนองพระราชภารกิจที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหิน ซึ่งขณะนี้ได้พยายามที่จะนำเอาดาวเทียมไทยคม เข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เจตนารมณ์ดังกล่าว เป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาใต้ร่มพระบารมีอย่างแท้จริง และที่สำคัญเพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายทางการศึกษา ในอันที่จะทำให้โรงเรียนไกลกังวลเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาไทยคมอย่างแท้จริง

กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติ ที่ได้มีพระราชดำริ ให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันนั้น การสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร